เมื่อธนบัตรชำรุดควรทำอย่างไร นำไปแลกคืนได้ที่ไหนบ้าง

ธนบัตรหรือเงินนั้น ทำมาจากใยฝ้ายผสมกระดาษเป็นซะส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อใช้ไปนานๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมักจะมีการชำรุดหรือฉีกขาด โดยเฉพาะกับธนบัตรที่ใช้มานานแล้วจนเก่า ดังนั้นหลายคนอาจจะมีคำถามว่า หากธนบัตรในมือเกิดการชำรุดขึ้นมาแล้ว จะสามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้ครับ (ข้อมูลอ้างอิงจาก พรบ. เงินตรา พ.ศ. 2501)

เมื่อธนบัตรชำรุดควรทำอย่างไร นำไปแลกคืนได้ที่ไหนบ้าง

1. หากธนบัตรนั้นฉีกขาดหรือชำรุดไม่มาก เช่นมุมใดมุมหนึ่งขาดออกไป โดยที่ส่วนที่ขาดนั้นไม่ได้หล่นหายไปไหน แนะนำให้ใช้เทปใสแปะปิดทับรอยขาดได้เลยครับ ยังสามารถใช้ชำระหนี้ หรือซื้อของได้ตามปกติ แต่วิธีนี้เหมาะสำหรับธนบัตรที่ชำรุดไม่มากนักนะครับ หากขาดหรือแหว่งไปมากๆ ไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาด

2. หากธนบัตรนั้นขาดครึ่ง หรือขาดออกจากกันจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ให้นำไปแลกที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ โดยจะแลกได้เพียงครึ่งราคาของมูลค่าเท่านั้นนะครับ (มีหลายคนถามว่า ธนาคารทั่วไปแลกได้หรือไม่ ตอบว่าได้ครับ แต่จะให้บริการเฉพาะวันพุธเท่านั้น)

3. ธนบัตรขาดครึ่งและต่อผิด หมายถึงธนบัตรที่ขาดออกจากกันแล้วถูกซ่อมแซม แต่เป็นการซ่อมแซมโดยใช้ชิ้นส่วนจากธนบัตรฉบับอื่น(แต่รูปแบบเดียวกัน) สามารถนำไปแลกได้ที่ธนาคารออมสิน โดยจะแลกได้เต็มมูลค่าของราคาธนบัตร แต่มีข้อแม้ว่าส่วนที่นำมาต่อกันจะต้องสมบูรณ์ทั้งสองส่วน

4. ธนบัตรที่ชำรุดแบบขาดวิ่น มักพบได้ในกรณีที่ถูกปลวกแทะ ฉีกขาด หรือไฟไหม้ หากส่วนที่เหลือของธนบัตรนั้นมีปริมาณมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์สามารถนำไปแลกได้เต็มมูลค่าของธนบัตร

5. ธนบัตรที่ชำรุดแบบลบเลือน มักจะพบเห็นได้ในธนบัตรเก่า คือจะมีสภาพหมึกลบเลือน หรือตัวธนบัตรเปลี่ยนสีไปจากเดิม อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุต่างกัน เช่นโดนน้ำ หรือน้ำยาเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน (ซักผ้าแล้วลืมเอาเงินออกมาจากกระเป๋าเสื้อ/กางเกง) ถ้าเป็นกรณีนี้ให้นำไปแลกได้เต็มมูลค่าของธนบัตร แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นธนบัตรของจริงเท่านั้น

สำหรับสถานที่แลกเปลี่ยนเงินตรา หรือธนบัตรที่ชำรุดนั้น นอกจากธนาคารออมสินแล้ว ท่านยังสามารถนำไปแลกได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เขตบางขุนพรหม รวมถึงสำนักงานคลังจังหวัด และสำนักงานคลังอำเภอได้ทั่วประเทศ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้ใดๆ แต่อยากจะแนะนำว่า การเก็บธนบัตรไว้กับตัวนั้น ควรเก็บด้วยความระมัดระวัง เพราะแม้ว่าตัวของธนบัตรนั้นแท้จริงแล้วทำขึ้นมาจากใยฝ้ายผสมกระดาษ ซึ่งถือว่าเป็นวัสดุที่คงทนในระดับหนึ่ง แต่หากเราเก็บรักษาอย่างระมัดระวัง ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของธนบัตรแต่ละฉบับออกไปได้ยาวนานกว่าเดิมเลยทีเดียว

Cr : เกร็ดความรู้ (668)

Comments are closed.