ถึงยุค”มีทองนับเป็นน้อง” ได้หรือยัง?

ราคา ทองคำที่ผันผวนอยู่ในตลาดบ้านเราวันนี้ทำให้ผมเริ่มงงและพยายามหาคำอธิบาย ต่างๆ นานา มาทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่อยู่ในบ้านเมืองนี้

อนึ่ง เรื่องนี้คงไม่ยากเท่านี้ถ้าผมเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” กระมัง

แต่ด้วยความที่ไม่ได้เป็น “นักเศรษฐศาสตร์” ก็เลยสนุกกับอธิบายและหาคำตอบที่อาจจะดูไร้สาระในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์อยู่มิใช่น้อย

แต่ก็ลองเขียนแบบสนุกๆ ครับ โดยนึกถึง “ตัวแสดง” อีกกลุ่มที่น่าจะมีอยู่มาก ก็คือคน “รายย่อย” ที่วุ่นวายอยู่กับการซื้อทองใน “ตลาด”

แต่ “ตลาด” ที่ผมพูดถึงเนี่ย ไม่ใช่ตลาดในความหมายนามธรรม หรือความหมายแต่ในตำราของนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นนะครับ

ผม หมายถึง “ตลาด” ที่เราหลับตาก็นึกถึงว่า ร้านทองนั้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของตลาดที่เรียกว่า “ตลาด(ตัว)เป็นๆ” ที่จับต้องและไปเดินเล่นได้ หรือจะเรียกว่า “ตลาดสด” นั่นแหละครับ

นึกถึงคนที่ไปยืนเข้าแถวในร้านทอง นึกถึง

อาม่าที่นั่งรถเมล์ไปซื้อทอง รวมทั้งนึกถึงพี่ผู้หญิงที่ขายของอยู่ที่ “หน้าตลาด” ที่ปรับทุกข์ว่า ซื้อทองมาตอนแพง ตอนนี้ขาดทุนน่าดู

แต่พี่คนเดียวกันนี้แหละครับที่บอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปซื้ออีกสัก “ห้าสิบสตางค์” ก็แล้วกัน !!!

เรื่องราวแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ในบ้านในเมืองเราเนี่ย เป็นบ้านเมืองหรือสังคมที่ให้ความหมายพิเศษกับเรื่องทองจริงๆ

จะเรียกว่า “แผ่นดินทอง” ก็ได้ล่ะมั้ง

ฮ่าๆ อย่าไปนึกถึงเรื่องอื่นๆ ให้ปวดหัวเลยครับ เอาแค่ชื่อคนนี่แหละครับ ชื่อทองโน่นทองนี่เต็มไปหมด ดังนั้น อย่าเพิ่งไปมองว่าแหม… ทองเนี่ยเป็นเรื่องคนจีนซะฝ่ายเดียว

หรือถ้าจะมองแบบนั้น คนจีนก็อยู่กับเรามาตั้งนมตั้งนานแล้วนั่นแหละครับผม

ทีนี้เรื่องต่อมาที่ยืนยันได้ก็คือ บ้านเรานี้มีร้านขายทองมากมายไปหมด และมีการซื้อขายทองกันเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา

จนบางทีเราเองก็ด่วนสรุปว่า อ๋อ! เพราะทองนั้นเป็นการลงทุนแบบรากหญ้า-รายย่อย

แต่ปรากฏการณ์ที่เจอในช่วงนี้สิครับที่ “ถ้าทองขึ้นราคา ก็จะไปซื้อทอง”

และ “ถ้าทองลดราคา ก็จะไปซื้อทอง” (แม้ว่าพรุ่งนี้ทองก็อาจจะลดลงไปอีก)

ปรากฏการณ์แบบนี้มันได้สั่นคลอนความเชื่อว่า เราใช้เหตุผลในการซื้อทองด้วยเหตุผลเดียวกับการลงทุนทั่วๆ ไป

และด้วยความมึนงงนี้เอง ที่เราควรจะต้องนำมาพิจารณาว่า ตกลงเราเข้าใจสังคมของเราที่หายใจเข้าออกเป็นทองแบบนี้ยังไง?

ประการ แรก เราอาจจะลองถามคำถามว่า สังคมแบบไหนหนอที่ตื่นทองได้ขนาดนี้ หากมองว่านอกจากการซื้อขายทอง หรืออ้างอิงราคาทองของผู้ซื้อรายใหญ่ๆ เรายังมีคนที่ซื้อทองในระดับรากหญ้าอีกมากมายที่ “ตลาด” (จริงๆ หรือตลาดสด)

ซึ่ง ส่วนหนึ่งเราก็อาจจะอธิบายแบบที่ใครๆ ก็พูดกันได้ว่า การซื้อทองขายทองนั้นเป็นเรื่องของการลงทุน แต่ด้วยว่ารายย่อยนั้นไม่มีความรู้หรือเข้าไม่ถึงช่องทางการลงทุนแบบอื่น การซื้อทองขายทองนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และถ้าจะคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรให้รายย่อยมีโอกาสลงทุนในแบบอื่นๆ ได้

อย่าลืมว่า หนึ่งในแคมเปญสำคัญของสินค้าบริโภคที่รายย่อยเกี่ยวข้องด้วยก็มักจะวนเวียนกับการจูงใจด้วยการแจกทองใช่ไหม?

หึหึ ชาเขียว น้ำอัดลม ก็แจกทอง แต่ที่ฮากว่านั้นเดี๋ยวนี้ธนาคารออมสินยังลุกมาแจกทองเข้าให้ด้วยเป็นต้นไงครับ

ประการ ที่สอง เราอาจจะตั้งคำถามได้ว่า ตกลงเราจะสามารถใช้ตรรกะของเศรษฐศาสตร์ในสังคมตะวันตกได้จริงๆ หรือไม่ ในเรื่องของการซื้อทองในบ้านเรา

…ว่าตกลงแล้ว ทองเป็นการลงทุน หรือเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคกันแน่

ในแง่นี้แทนที่เราจะพยายามอธิบายตามกระแสในช่วงที่ผ่านมาว่า “ทุกๆ เรื่องสามารถอธิบายได้ด้วยตรรกะทางเศรษฐศาสตร์”

เราอาจจะไปไกลถึงขั้นที่ว่า “เรื่องบางเรื่องนั้นอาจจะมีตรรกะอื่นที่ไม่ใช่ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบาย” ก็อาจเป็นได้

อาทิ การมองว่า ทองมีลักษณะพิเศษ ที่สามารถสะสมแล้วเอามาลงทุนก็ได้ หรือสามารถเอามาอวดและจับต้องได้ ไม่เหมือนกับกระดาษหรือตัวเลขเท่านั้น

ทองจึงเป็นเครื่องประดับที่ใส่โชว์ได้ และมีมูลค่าที่เป็นหลักประกันบางประการในยามที่เราขัดสนได้

หรือบางทีเราก็อาจจะแปลกแยกกับทองน้อยกว่าเราแปลกแยกกับเงิน (ธนบัตร และบัตรเครดิต) เสียอีก

ดังที่บทสนทนา “ในตลาด (สด)” อีกแห่งหนึ่งก็แซวกันว่า จริงอยู่แม้ว่าราคาทองจะลง แต่ถ้าเทียบแล้ว ก็ยัง “สมาร์ท” กว่าการไปซื้อ

“สมาร์ทโฟน” อยู่เยอะ เพราะสมาร์ทโฟนนั้นอาจจะแพงกว่าทองหนึ่งบาทในวันนี้ และแม้ว่าทองอาจจะลงไปอีก

แต่ผ่านไปหนึ่งปีทองน่าจะยังมีค่าสูงกว่าสมาร์ทโฟนตกรุ่นเสียอีก และก็ยังแสดงออกถึงการมีฐานะนั่นแหละครับผม

ที นี้ในการบริโภค ลงทุน หรือออมด้วยทองในแบบบ้านๆ เนี่ย เราอาจจะต้องเข้าใจว่า บางทีมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป็น “ของขวัญ” “เครื่องประดับ” และ “การให้” ที่น่าสนใจ (ซึ่งในแง่นี้ผมก็หยิบยืมแนวคิดเล็กๆ น้อยๆ จากบรรดานักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ – economic anthropologists) มาแบบครูพักลักจำ…

ในแง่ที่เราอาจ จะต้องคิดว่า เวลาคนเขาซื้อทองนั้น มันอาจจะต่างจากการออมเงินทั่วไป เพราะการซื้อทองนั้นบางทีซื้อไว้นอกจากจะเอาไว้เอง (ทั้งลงทุน ออม หรือประดับ)

แต่เขาเอาไป “แจก/ให้” คนอื่นด้วย ซึ่งในแง่นี้ก็ต้องมาตั้งคำถามที่น่าสนใจแทนที่จะมองว่าคนซื้อทองขายทองนั้น เป็น “ผู้ซื้อหรือผู้ขาย” แต่ละคน

แต่เราอาจจะต้องสนใจว่าเขามีเครือ ข่ายอย่างไร เขามีครอบครัว (หรือแม้จะสร้างครอบครัว) อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าทองนั้นเป็นส่วนสำคัญในการหมั้นและแต่งงาน รวมทั้งเป็นรางวัล-ของขวัญกับคนที่เรารักอยู่เสมอ

พูดกันแบบนัก เศรษฐศาสตร์อาจจะอมยิ้มก็คือ ในยุคตื่นทองแบบขาขึ้น (ขาขึ้นไปก่ายหน้าผาก เพราะราคาลงมากกว่าขึ้น) แบบนี้ เราอาจจะมองได้ว่าคนที่ไปซื้อทองวันนี้เขาอาจไม่ได้คิดแบบการลงทุนระยะสั้น หรือระยะยาวแบบซื้อหุ้น

แต่เขาอาจจะทั้งซื้อไว้เอง เพราะมีเงินมากขึ้น หรือไม่มั่นคงก็จะซื้อ หรือเขามีเครือข่าย-ชุมชนที่เขารักและแสดงความรักในการให้ (และรับ) ทองมากน้อยแค่ไหน มีครอบครัวและเครือญาติแบบไหน

ในแง่นี้ร้านทองในตลาดอาจไม่ใช่แค่ตัว

ชี้วัดทางเศรษฐกิจของชุมชน แต่อาจจะเป็นตัวชี้วัดทางวัฒนธรรมและสังคมของการให้และรับเข้าไปด้วย

พูด แบบนี้ให้เจ้าอาวาสค้อนเล่นๆ ว่า ไม่ใช่แต่วัดหรอกครับที่เป็นตัวชี้วัดระบบความดีในชุมชน แต่ร้านทองก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดระบบการให้และความรักของชุมชนเช่นกัน (โรแมนติกไหมล่ะ?)

นั่นแหละครับ เมื่อทองนั้นไม่ใช่แค่ “สินค้า” และ “ทุน (ที่แปลงเป็นเงิน)” แต่หมายถึง “ของขวัญ” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนัยยะและความหมายของการ “แลกเปลี่ยน” ด้วย ซึ่งในแง่นี้จึงไม่ใช่เรื่องแค่ ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดทอง

แต่หมายถึง “ตลาดสด” และ “ครอบครัว” เข้าไปด้วยครับผม

แต่ กระนั้นก็ตามนะครับ ทองก็ยังมีลักษณะพิเศษ ที่ “พิเศษ แบบ ไม่พิเศษมาก/ที่สุด” ตรงที่ว่า ทองนั้นไม่ได้มีลักษณะที่โดดเด่นเหมือนสรรพสิ่งบางอย่างที่โดดเด่นเป็น เอกลักษณ์เสียจนถูกระบุออกมาให้มีชีวิตทางสังคมที่หลุดไปจากสินค้าอื่นๆ อาทิ เพชรที่มีชื่อเฉพาะ หรือเพชรเม็ดนั้นเม็ดนี้

ดังนั้น ทองคำจึงมีลักษณะที่ยืดหยุ่นและสามารถเข้าออกจากอาณาเขตของการแลกเปลี่ยนได้ อย่างไม่ยากนัก จากการรับซื้อ หรือการจำนำที่ร้าน ดังตัวอย่างง่ายๆ เช่น สร้อยแบบนี้เราเบื่อก็เอาไปเปลี่ยน (ที่ยากกว่าทองคือเพชร หรือ พระ (เครื่อง) นั่นแหละครับที่มีความพิเศษมากกว่าในบ้านเรา)

ถ้าใช้ศัพท์ หลวมๆ แบบไม่ใช่ฝ่ายซ้ายแท้ๆ เราก็อาจจะบอกว่า เราไม่ได้แปลกแยกจากทองมากนัก เพราะเราถือมันได้ ประดับมันได้ เอาไปจำนำก็ได้ หรือแม้กระทั่งเอามันไปหลอมใหม่ก็ได้นั่นแหละครับ

หรือ แม้กระทั่งความคาดหวังของสังคม (และตัวเรา) ที่ว่า ถ้ารวยก็ต้องมีทองมาใส่บ้าง ซึ่งก็ถือเป็นการ “ลงทุนทางวัฒนธรรม” เพื่อรักษาหน้าตาของเขาในวงสังคมเช่นกัน (เช่นการมีเครื่อง

ประดับ เล็กๆ น้อยๆ ใส่ในงาน หรือแม้กระทั่งการไปขอลูกสาวใคร หรือการตั้งราคาค่าสินสอดทองหมั้น หรือถ้าบริษัทเจ๋งจริงก็ควรจะแจกทองชิงโชคบ้างสิ… อิอิ)

กล่าวโดย สรุปแบบมึนๆ ก็คือ ไม่ว่า “ราคา” ทองจะขึ้นหรือลง บ้านเมืองของเราก็ยัง “มีทองนับเป็นพี่” และเป็น “แผ่นดินทอง” เหมียนเดิมครับผม…

ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2556 (596)

Comments are closed.