ภาษีทำไมต้องจ่าย…ไม่จ่ายได้ไหม?

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากจะกำหนดสิทธิต่างๆ ที่ประชาชนพึงมีไว้แล้ว ยังได้กำหนดหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งกฎหมายที่ใช้เป็นข้อกำหนดในการเรียกเก็บภาษี คือ ประมวลกฎหมายรัษฎากร

ภาษี คืออะไร ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร เพื่อนำมาใช้บริหารและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การประชาสงเคราะห์ การป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายในประเทศ สร้างสาธารณูปโภค รวมไปถึงเงินเดือนของราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ทำหน้าที่ให้บริการประชาชน เงินภาษีซึ่งการเรียกเก็บจากราษฎรนั้น มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจากหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุน รามคำแหง เรียกว่า “จกอบ จำกอบ หรือจังกอบ” เรียกได้ว่าการเรียกเก็บภาษีจากราษฎร เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญในการบริหารประเทศ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามหน้าที่ที่มีต่อประชาชน ในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

การจัดการภาษีซึ่งเป็นรายได้ของรัฐบาลนั้นมีกระทรวงการ คลังเป็นผู้ดูแล โดยมอบหมายงานให้แก่กรมสรรพากร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตเป็นผู้ควบคุมดูแลในการจัดเก็บภาษี แต่ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทำหน้าที่เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเป็นรายได้เข้ารัฐอยู่บ้าง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมตำรวจ ฯลฯ

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีประชาชนผู้มีรายได้ครับโดยรัฐจะจัดเก็บภาษีจาก ความสามารถของบุคคล ผู้ที่มีรายได้มากจะเสียภาษีมากกว่าผู้มีรายได้ปานกลาง ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำอาจไม่ต้องเสียภาษีเลยได้ ซึ่งภาษีนั้น ได้แบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรแสตมป์ รวมไปถึงภาษีที่จัดเก็บจากท้องถิ่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่

นอกจากนี้ยังมีภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีประเภทที่เรียกเก็บจาก สินค้าและบริการบางประเภท โดยสินค้าหรือบริการนั้นๆ มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่ แบตเตอรี่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน น้ำหอม รถยนต์ เรือยอชต์ รวมทั้งสถานบริการ เช่น สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

ภาษีศุลกากร เป็นภาษีชนิดที่เรียกว่า กำแพงภาษี คือเป็นภาษีที่ไม่เกิดจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นภาษีที่สกัดกั้นการไหลบ่าของสินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาภายใน ประเทศ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไม่ให้ถูกโจมตีจากสินค้าต่างประเทศที่ มีคุณภาพดีกว่าแต่ราคาย่อมเยากว่า

ทั้งนี้เมื่อกฎหมายมีการกำหนดหน้าที่ในการชำระภาษีของประชาชนและผู้ ประกอบธุรกิจแล้ว จึงจะต้องมีการกำหนดโทษเอาไว้ในกรณีผู้มีหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่สำหรับ ผู้ที่หนีภาษีหรือการหลีกเลี่ยงภาษี ตลอดจนการไม่ยื่นแบบภาษีหรือชำระภาษีตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมาย กำหนดต้องเสียค่าปรับอีก 2 เท่าของค่าภาษี กรณียื่นแบบรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไป ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของภาษีที่ขาดไป

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องเสียเงิน เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ โดยการคำนวณเพิ่มมิให้คิดทบต้นและไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวม เบี้ยปรับ

ในกรณีของผู้ที่มีเจตนาหนีภาษีหรือหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อโดยวิธีการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีให้น้อยลง ตามประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตอบคำถามถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงหรือยื่นบัญชีหรือเอกสารอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 300,000 บาท

ในกรณีลักลอบหนีศุลกากร หรือการนำของที่ยังไม่ได้เสียภาษี ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาหรือส่งออกไปนอกประเทศ ให้ริบของที่ลักลอบหนีศุลกากรและปรับเป็นเงิน 4 เท่าของรวมค่าภาษีอากร หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงจะได้คำตอบแล้วนะครับภาษีไม่จ่ายไม่ได้ครับเพราะ เป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หากมีรายได้หรือประกอบกิจการที่เข้าข้อกำหนดตามกฎหมายแล้ว จะต้องชำระภาษี ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีโทษปรับ ถูกอายัดบัญชี จนไปถึงต้องระวางโทษจำคุกได้

การจ่ายภาษี เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแสดงรายได้ของตนเอง หรือประเมินตนเอง หรืออาจถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อน ส่วนผู้ที่ใช้ภาษีของประชาชน ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนให้ดี ให้สมกับเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายนะครับ

ที่มา: Sanook.com (1914)

Comments are closed.