สมาคมทองวอนคุมร้านออนไลน์ หลังพบยอดซื้อขายเพิ่มขึ้น หวั่นอาศัยช่องตุ๋นนักลงทุน

นายกสมาคมทองคำยัน มาตรการควบคุมร้านค้าทอง-โบรกเกอร์ ไม่กระทบราคาทองในประเทศ วอนหามาตรการกำกับดูแลร้านออนไลน์ หลังพบยอดซื้อขายเพิ่มขึ้นมาก ด้านผู้ว่าการ ธปท.แจง เหตุต้องวางกติกากำกับดูแลการซื้อขายทองคำ เพื่อป้องกันใช้เป็นช่องทางเก็งกำไรบาท สศค.ค้านหวั่นกระทบความเชื่อมั่น

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำเปิดเผยกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อวางกติกาการซื้อขายทองคำของร้านค้าทองหรือบริษัทที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) ซื้อขายทองคำ เพื่อป้องกันใช้เป็นช่องทางเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนว่า สมาคมได้หารือกับ ธปท.มาตั้งแต่ต้นเดือน รวมทั้งเสนอข้อมูลการซื้อขายทองคำในตลาดออนไลน์ของผู้ประกอบการนอกระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาคมเป็นห่วงมาตั้งแต่การหารือกับธปท.และหลายหน่วยงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่า มีการซื้อขายทองคำออนไลน์ที่ไม่สามารถตรวจสอบผู้ประกอบการได้จริงเกิดขึ้นจำนวนมาก และผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน เพราะเมื่อทำธุรกรรมไปแล้วไม่สามารถหาที่ตั้งของบริษัทได้

“อยากให้ดูแลร้านค้าเหล่านี้ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่มีทุนจดทะเบียนสูง มีพนักงานขายไม่กี่คน มีที่อยู่ไม่ชัดเจน กำลังเกิดขึ้นจำนวนมาก นักลงทุนที่ทำธุรกรรมด้วยและถูกหลอกก็มี ซึ่งสมาคมให้ความเป็นห่วงมาตลอด และพร้อมให้ข้อมูลกับทางธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมร้านค้าเหล่านี้ให้ทำอย่างถูกต้องและเป็นการปกป้องผู้บริโภค”

ส่วนกรณีที่ ธปท.กำลังจับตาดูเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินบาทของกลุ่มผู้ประกอบการทองคำ นายจิตติกล่าวว่า คงต้องหารือกับ ธปท.ถึงแนวทางต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งหากมีมาตรการอะไรออกมาคงไม่กระทบต่อราคาทองคำในประเทศมากนัก ส่วนการเก็งกำไรค่าเงินบาทจะมาจากร้านค้าทองออนไลน์หรือไม่นั้น คงต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดต่อไป ซึ่งนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทอง ควรลงทุนกับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องดีกว่า เพราะสมาชิสมาคมกว่า 800 รายทำตามระเบียบที่ถูกต้องอยู่แล้ว

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การหารือถึงแนวทางดังกล่าว ไม่ได้เป็นเหตุการณ์พิเศษและปัญหาใหญ่ เพียงแต่ระยะหลัง การซื้อขายทองคำมีปริมาณที่มากขึ้นและพบว่าตัวเลขการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมีมากกว่าการซื้อขายทองคำค่อนข้างมาก ซึ่ง ธปท.ต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ติดตามและพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามว่ามีความสอดคล้องกันแค่ไหน

“เรื่องนี้เป็นการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการปริวรรตเงินตรา ส่วน ก.ล.ต.ก็ดู พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจน ก็คงจะมีการพูดถึงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง” นายประสารกล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ศศค.มองว่าการจะกลับไปใช้กฎระเบียบดูแลการนำเข้าส่งออกทองคำเหมือนในอดีตนั้นคงไม่เหมาะสม จึงให้ ธปท.ไปตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้งว่าการค้าทองคำมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนจริงหรือไม่ หากมีข้อมูลชี้ชัดค่อยมาพิจารณาร่วมกันใหม่ เพราะหากดูตัวเลขแต่ละเดือนก็ไม่ได้สูงขึ้นจนผิดปกติ มีเพียงบางเดือนเท่านั้นที่นำเข้ามากและกระทบดุลการค้า หากเก็งกำไรเกิดขึ้นจริง ก็มองว่าเป็นช่วงสั้นๆ

“ก่อนหน้านี้ การค้าทองคำ ส่งออก หรือนำเข้าต้องมาขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง แต่ยกเลิกไปกว่า 10 ปีแล้ว หากจะนำมาใช้อีกก็เหมือนถอยหลังกลับไป ขณะที่ประเทศอื่นก็ปล่อยให้ค้าทองคำโดยเสรีหมดแล้ว จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ รวมทั้งอาจกระทบเรื่องของความเชื่อมั่นด้วย” นายสมชัยกล่าว

ที่มาของบทความ

(1192)

Comments are closed.