2 ล้านล้านบูม…ภาคอีสาน เชื่อม 20 จังหวัดโยงเศรษฐกิจเออีซี

ทำไม “รัฐบาล” ถึงเลือกภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวทีแรกเปิดกิจกรรมโรดโชว์โปรเจ็กต์ 2 ล้านล้าน…สร้างอนาคตไทย 2020 ตลอดเดือนตุลาคมนี้ โดยนำร่อง “หนองคาย” เป็นจังหวัดแรก ก่อนจะไปต่อที่จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี และขอนแก่นต่อไป

โผเมืองหลัก-เมืองรอง

พื้นที่เป้าหมายสำหรับภาคอีสานที่จะรองรับโครงการลงทุน 2 ล้านล้านในอนาคต มีการกำหนด “เมืองศูนย์กลาง” อยู่ที่ “ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย-นครราชสีมา-อุบลราชธานี” และวางบทบาทให้ “เลย-กาฬสินธุ์-ชัยภูมิ-ร้อยเอ็ด-บุรีรัมย์-สุรินทร์” เป็นเมืองเศรษฐกิจคู่ขนานควบคู่กับกำหนดประตูการค้าชายแดน หรือเกตเวย์ 4 แห่ง ที่ “ด่านมุกดาหาร-นครพนม-ช่องเม็ก (อุบลราชธานี)-ช่องจอม (สุรินทร์)” เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจการลงทุน 3 ประเทศจาก “เวียดนาม-กัมพูชา-ลาว” เตรียมที่จะใช้เงินลงทุนมากกว่า 398,000 ล้านบาท

ทางคู่สร้างได้ทันที 2 สาย

พลิกดูคู่มือบัญชีโครงการใน 2 ล้านล้าน…ชาวอีสานได้อะไรบ้างใน 7 ปีนับจากนี้ จากการคำนวณเม็ดเงินเบื้องต้นตามรายชื่อโครงการ วงเงินลงทุนร่วม 452,491 ล้านบาทยังไม่นับรวมสถานีขนส่งสินค้า ด่านศุลกากร สะพานข้าม และอุโมงค์ลอดทางรถไฟ ที่ระบุแต่วงเงินลงทุนรวมทั้งโครงการแยกเป็น “ระบบราง” มีรถไฟทางคู่ 4 สาย มูลค่า 107,007 ล้านบาท เริ่มประมูลได้ทันทีปี 2557 จำนวน 2 สายแรก คือ “สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ” ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,855 ล้านบาท กับ “สายชุมทางจิระ-ขอนแก่น” ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 26,007 ล้านบาท

อีก 2 สายคือ “สายขอนแก่น-หนองคาย” ระยะทาง 174 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 18,585 ล้านบาท กับ “สายชุมทางจิระ-อุบลราชธานี” ระยะทาง 309 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 32,560 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาโครงการ

ตัดรถไฟใหม่ผ่าน 4 จังหวัด

ส่วนรถไฟสายใหม่มี 1 สาย เส้นทางจาก “บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม” ระยะทาง 347 กิโลเมตร วงเงิน 42,106 ล้านบาท เชื่อมไปยังพรมแดนไทย-ลาว แนวเส้นทางจะต่อจากสถานีบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด จนไปสุดปลายทางที่จังหวัดนครพนม ปัจจุบัน “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” กำลังศึกษารายละเอียดโครงการ ตามแผนประมูลและก่อสร้างในปี 2559 เสร็จในปี 2562

โครงการที่น่าจะเป็นไฮไลต์ “รถไฟความเร็วสูง” สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร วงเงิน 170,450 ล้านบาท เชื่อมพื้นที่ 7 จังหวัดต่อจากกรุงเทพฯ ผ่านไปปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี สิ้นสุดที่หนองคาย

สัมผัสไฮสปีดเทรนโคราช

ตามแผนงานในภาคอีสาน รัฐบาลจะสร้างเฟสแรก “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ก่อน ระยะทาง 256 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 123,950 ล้านบาท ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะยื่นอีไอเอ กับเริ่มประมูลคัดเลือกระบบได้ในปี 2557 เปิดบริการปี 2562 มี 6 สถานี มีสถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา

ส่วนเฟส 2 จาก “นครราชสีมา-หนองคาย” ระยะทาง 359 กิโลเมตร จะสร้างช้าจากเฟสแรก 2 ปี เริ่มประมูลก่อสร้างในปี 2559 เปิดบริการปี 2564 คาดว่าจะมี 5 สถานี โดยต่อจากนครราชสีมา เป็นสถานีบัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ปัจจุบันได้งบประมาณปี 2557 จำนวน 199 ล้านบาท มาศึกษารายละเอียดโครงการแล้ว

ถนนมีครบทุกโครงข่าย

สำหรับ “ทางถนน” มีโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 6 โครงการ ระยะทางรวม 148 กิโลเมตร ใน 6 จังหวัด คือ บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม ศรีสะเกษ หนองคาย สุรินทร์ วงเงิน 6,350 ล้านบาท ได้แก่ สาย 212 (อ.โพนพิสัย-บึงกาฬ ตอน 1-2) สาย 212 (อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม) สาย 214 (อ.ปราสาท-ช่องจอม ตอน 1-2) สาย 221 (อ.กันทรลักษ์-เขาพระวิหาร ตอน 1-2)

โครงการขยาย 4 ช่องจราจร 13 โครงการ ระยะทางรวม 846 กิโลเมตร ใน 14 จังหวัด มีขอนแก่น อุดรธานี เลย สกลนคร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองบัวลำภู นครพนม และอำนาจเจริญ วงเงินรวม 38,140 ล้านบาทได้แก่ สาย 12 (กาฬสินธุ์-อ.สมเด็จ ตอน 2)

สาย 12 (กาฬสินธุ์-นาไคร้-อ.คำชะอี) สาย 225 (นครสวรรค์-ชัยภูมิ) สาย 229 (อ.แก้งคร้อ-อ.บ้านไผ่) สาย 203 (ร้อยเอ็ด-ยโสธร-อ.เขื่องใน) สาย 24 (อ.ปราสาท-อ.ขุขันธ์-แยกสาย 2085 จ.สุรินทร์) สาย 2085 และ 2178 (กันทรลักษ์-อุบลราชธานี) สาย 210 (อ.วังสะพุง-อ.นากลาง) สาย 22 (อ.หนองหาน-อ.พรรณานิคม) สาย 22 (สกลนคร-นครพนม) สาย 201 (อ.แก้งคร้อ-อ.ชุมแพ) สาย 202 (ยโสธร-อำนาจเจริญ) สาย 220 (ศรีสะเกษ-อ.ขุขันธ์)

มอเตอร์เวย์ 8.4 หมื่นล้าน

โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท ค่าก่อสร้างวงเงิน 77,970 ล้านบาท ล่าสุด “ทล.-กรมทางหลวง” ได้ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว อยู่ระหว่างสำรวจยอดผู้ถูกเวนคืน เตรียมเวนคืน และเปิดประมูลก่อสร้างในปี 2557 ใช้เวลา 4 ปีสร้างเสร็จ

โครงการบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาคบนถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) จำนวน 39 โครงการ ระยะทางรวม 269 กิโลเมตร ใน 4 จังหวัดมี หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา วงเงินรวม 3,838 ล้านบาท

5 สถานี 5 จังหวัดขนส่งสินค้า

นอกจากนี้มี “สถานีขนส่งสินค้า” ใน 5 จังหวัดด้วยกัน คือ หนองคาย มุกดาหาร ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ทันทีในปี 2557-2558

โครงการก่อสร้าง “สะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ” รวม 17 แห่ง ใน 5 จังหวัด มีนครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์

ปิดท้ายด้วยโครงการยกเครื่องด่านศุลกากร ได้แก่ ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านหนองคาย ด่านเขมราฐ ด่านบึงกาฬ ด่านท่าลี่ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และด่านช่องจอม เพื่อเตรียมรับกับการเปิดเออีซีที่จะมาถึงในปี 2558

หากแผนงานทำได้จริง เท่ากับเป็นการพลิกโฉมระบบโครงข่ายคมนาคมพื้นที่ภาคอีสานครั้งมโหฬารอย่างแท้จริง

ชุมทาง…เออีซี

อาจจะเป็นเพราะใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย “ภาคอีสาน” เป็นภาคใหญ่ที่สุดทั้งในแง่อาณาเขตมากถึง 168,856 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 20 จังหวัด ประชากรรวมกันกว่า 22 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ

ที่สำคัญเป็นพื้นที่รอยต่อประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเชื่อมการค้าการลงทุน 4 ประเทศ “จีน-เวียดนาม-ลาว-กัมพูชา”

อีสานฐานทัพใหญ่

ทำให้อนาคตของ “ภาคอีสาน” ทั้ง 20 จังหวัดประกอบด้วยเลย ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครพนม และบึงกาฬ  จึงไม่ใช่ดินแดนที่ราบสูงอย่างที่ถูกกล่าวขานในอดีต แต่หากนับถอยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 ก็พร้อมจะขยับฐานะเป็นศูนย์กลางหรือฮับการค้าและลงทุนของอาเซียน รวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นผลพลอยได้ที่จะตามมา

จะว่าไปแล้ว “ภาคอีสาน” ด้วยศักยภาพของกลุ่มจังหวัดทำให้ปัจจุบันกำลังกลายเป็นดาวเด่นของทุกภาคส่วน ธุรกิจที่เริ่มขยายลงทุนกระจายไปยังจังหวัดต่างๆในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจทุกภาคส่วนแห่ลงทุน

โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้า ค้าปลีก การขนส่ง ที่เริ่มเข้าไปลงทุนก่อสร้างโครงการรองรับ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะลงทุนครั้งเดียวรองรับได้ทั้งเออีซี + แผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้าน

โฟกัสกลุ่มอสังหาฯ จะมีระดับบิ๊ก ๆ เข้าไปยึดหัวหาด ไม่ว่าจะเป็นค่ายแสนสิริเข้าไปลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียม 3 จังหวัด 4 โครงการ ในรอบปีนี้มีที่ “อุดรฯ-ขอนแก่น-โคราช” นอกจากนี้มีค่ายศุภาลัย, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, พฤกษา เรียลเอสเตท, ซี.พี.แลนด์ เป็นต้น เป็นการลงทุนล้อไปตามนโยบายรัฐบาลที่มีแผนจะลงทุนครบเครื่องทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ โดยมีสถานีปลายทางที่ “หนองคาย” ประตูหน้าด่านชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว

พร้อม ๆ กับปรับสปีดการเดินทางเชื่อม “กรุงเทพฯ-หัวเมืองใหญ่” ตามรายทางให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ที่ออกแบบไว้คือใช้เวลาเดินทางด้วยไฮสปีดเทรนไม่เกิน 3 ชั่วโมง ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสธุรกิจในอนาคต เนื่องจากเมืองจะขยายสู่หัวเมืองต่างจังหวัด

ที่มาของบทความ

(1576)

Comments are closed.