เมื่อมือถือ กลายมาเป็นบัตรเครดิต !!

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมมีโอกาสได้ไปร่วมประชุมวิชาการที่สหรัฐอเมริกามาครับ ซึ่งถ้าใครเคยไปประเทศนี้ก็คงจะเห็นด้วยกับผมว่าที่นั่นเป็นประเทศแห่งบัตรเครดิตจริง ๆ การใช้จ่ายซื้อสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะตั๋วรถไฟ ร้านอาหาร หรือแม้แต่ร้านแมคโดนัลด์ต่างก็จ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ทั้งนั้น พูดถึงบัตรเครดิตเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่วันนี้ผมจะชวนคุณผู้อ่านมารู้จักกับอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีชื่อว่า NFC ครับ พูดถึงชื่อ NFC บางท่านอาจจะยังไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่ามันคือระบบชำระเงินผ่านมือถือ ที่แค่เอามือถือของเราไปแตะที่เครื่องอ่านเพียงเท่านี้ก็จ่ายเงินได้แล้วไม่ต้องรูดบัตรเครดิต ไม่ต้องเซ็นสลิปอย่างนี้คุณผู้อ่านคงจะเห็นภาพมากขึ้นใช่ไหมครับ

จริง ๆ แล้วเทคโนโลยี NFC ถูกเปิดตัวมานานหลายปีแล้วนะครับ มีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นในท้องตลาดที่มีคุณสมบัตินี้ทั้งของค่ายโซนี่ โนเกีย และ ซัมซุง และทั้งที่ NFC เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินได้มาก แต่ที่ผ่านมามันก็ยังไม่ติดตลาด ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่นัก จนกระทั่งงานเปิดตัวไอโฟน 6 และ ไอโฟน 6 พลัส สมาร์ทโฟนเครื่องแรกของแอปเปิลที่มีเทคโนโลยี NFC ติดมาให้ด้วยนี่เองล่ะครับที่ทำให้ NFC กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจอย่างจริงจังขึ้นมา ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์เลยนะครับว่าแบรนด์แอปเปิลที่สตีฟ จ็อบส์สร้างมานี้ ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำเทรนด์ทางด้านเทคโนโลยี เรียกว่าถ้าแอปเปิลไม่ลงมาเล่นด้วย ก็ยากที่จะทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ติดกระแสสังคมได้

เทคโนโลยี NFC ของไอโฟนตัวใหม่นี้นอกจากจะรองรับการใช้งานกับเครื่องอ่าน NFC ที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว มันยังมาพร้อมกับระบบการจ่ายเงินแบบใหม่ของแอปเปิลที่มีชื่อว่า แอปเปิลเพย์ (Apple Pay) ด้วย สำหรับตอนนี้ซึ่งเป็นระยะนำร่อง ระบบแอปเปิลเพย์นี้สามารถใช้จ่ายเงินได้จริงในร้านค้าร้านอาหารกว่า 220,000 ร้านในสหรัฐอเมริกาที่มีเครื่องอ่าน NFC นี้ติดตั้งอยู่ แต่สำหรับประเทศไทยเราคงต้องรอกันไปอีกสักระยะครับ

การทำงานหลัก ๆ ของแอปเปิลเพย์จะอาศัยเซ็นเซอร์ที่อยู่บริเวณแถบด้านบนของตัวไอโฟนในการสแกน และผูกการจ่ายเงินเข้ากับบัตรเครดิตที่ปรากฏอยู่บนแอพพลิเคชั่นพาส บุ๊ก (Passbook) ของไอโฟน ซึ่งบัตรเครดิตในพาสบุ๊กนี้นอกจากจะใช้บัตรเครดิตเดียวกับที่ใช้ในแอปเปิลไอดี (Apple ID) ได้แล้ว เรายังสามารถถ่ายรูปด้านหน้าของบัตรเครดิตเพื่อทำการเพิ่มบัตรนี้ลงไปในตัวเลือกการใช้งานก็ได้เช่นกันครับ โดยข้อมูลหน้าบัตรอาทิ เลขบัตรเครดิต ชื่อ วันหมดอายุ จะถูกอ่านเข้าไปเก็บในพาสบุ๊กโดยอัตโนมัติ

สำหรับคุณผู้อ่านที่กังวลในเรื่องของความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยช่องทางนี้ แอปเปิลก็ออกตัวมาค่อนข้างชัดเจนครับว่าระบบเขามีความปลอดภัยสูง เนื่องจากการชำระเงินผ่านแอปเปิลเพย์นั้น ข้อมูลการซื้อจะไม่ถูกส่งขึ้นสู่อินเทอร์เน็ต ทางแอปเปิลจะไม่รู้เลยว่าเราใช้จ่ายอะไรยังไงไปบ้าง ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่เฉพาะในเครื่องไอโฟนของเราเท่านั้น แม้แต่พนักงานของร้านค้าที่ใช้ระบบแอปเปิลเพย์ก็จะไม่เห็นชื่อจริงหรือหมายเลขบัตรเครดิตของเราเลย

ฟังดูแล้วก็เหมือนจะดีนะครับที่ข้อมูลจะไม่รั่วทางอินเทอร์เน็ต แต่มองในอีกมุมหนึ่งไอโฟนก็จะยิ่งกลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่กุมข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของเราไว้ด้วย ถ้าเกิดวันไหนไอโฟนหายหรือถูกขโมยขึ้นมา (แม้จะมีแอพพลิเคชั่น Find My iPhone) แต่เจ้าของเครื่องก็คงต้องร้อน ๆ หนาว ๆ กันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้แน่ครับ

แต่อย่างว่าล่ะครับ ของทุกอย่างก็มีสองด้าน เหมือนดาบเล่มหนึ่งที่มีสองคม เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เองก็เฉกเช่นเดียวกัน เป็นหน้าที่ของผู้ใช้อย่างเราเองที่ต้องเลือกใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านั้นให้เหมาะสมลงตัวและเกิดประโยชน์กับตัวเราเองให้มากที่สุด.

Cr : Dailynews.co.th (802)

Comments are closed.