วันที่แทปเล็ต…ครองโลก!

เมื่อเร็วๆ นี้ถ้าได้อ่านข่าวชิ้นหนึ่งเรื่องแท็บเล็ต นักเรียน ป.1 จะพบว่าผลการสำรวจการใช้งานสัมฤทธิ์ผล แม้ว่าครึ่งหนึ่งของครูทั่วประเทศยังไม่ได้แท็บเล็ตครูที่จะเอาไปใช้สอนเด็กก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วเด็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์ชนิดหนึ่ง สามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ด้วยเครื่องมือเครื่องไม้ทุกชนิด ปัญหาที่เราพบก็คือเด็กถูกปิดกั้นการเรียนรู้อยู่เสมอ ระบบโรงเรียนนี่แหละที่ร้ายกาจในการครอบงำไม่ให้เด็กๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เป็นอะไรที่น่าเบื่อสำหรับเด็ก เมื่อครอบงำความคิดแบบนี้นานๆ เข้า ความคิดสร้างสรรค์ก็หดแคบลงไป

เคยเห็นเด็กปาดป้ายนิ้วไปบนแท็บเล็ตไหมครับ เป็นอะไรที่ไม่ต้องสอน เด็กสามารถค้นหาวิธีการใช้มันได้ด้วยตัวเอง แล้วพวกเขาก็ใช้มันไปตามรสนิยมของตัว บางคนอาจเล่นแต่เกม บางคนก็ค้นหาอย่างอื่นๆ ร้อยแปดพันประการ

แท็บเล็ตจะครองโลก และมันครองใจคนอีกด้วย เนื่องจากมันสะดวก มันง่าย ใช้ทำอะไรมากมายหลายอย่างได้ บางอย่างก็นึกไม่ถึง

แต่วันหนึ่งข้างหน้ามันอาจจะหายไปก็ได้ ใครจะไปสน สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ แต่ละยุคสมัยล้มหายตายจากไปมากมาย

ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ บริษัทวิจัยไอดีซีบอกว่า แท็บเล็ตทั่วโลกขายได้ทั้งหมด 49.2 ล้านเครื่อง แค่สามเดือนของปีนี้ยังมากกว่าครึ่งแรกของปีก่อนเลยด้วยซ้ำ

แต่มีคนบอกว่าแท็บเล็ตจะตายคนนั้นคือ ทอร์สเตน ไฮนส์ แห่งแบล็คเบอร์รี่ ที่เคยยิ่งยงในตลาดสมาร์ทโฟนมาก่อน คนไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อนรู้จักกันดี ทว่าตอนนี้แทบเอาตัวไม่รอด เพราะแบล็คเบอร์รี่มีคนใช้น้อยลงเรื่อยๆ บริษัทขาดทุน พยายามหาคนมาเทกโอเวอร์

ไฮนส์ทำนายว่า แท็บเล็ตจะตายภายในปี 2018 หมายถึงในอีกห้าปีข้างหน้าจะไม่มีคนใช้มันอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการเข้าสู่ธุรกิจแท็บเล็ตไม่ใช่หนทางที่ดี

ระหว่างนี้ก็มาดูกันว่าใครจะอยู่ใครจะไป

แท็บเล็ตที่ครองตลาดมากที่สุดคือ ไอแพดของแอปเปิล รองลงมาคือ กาแล็คซี่ของซัมซุง นอกนั้นที่เหลือที่ไม่มีนัยสำคัญใดๆ กับตลาด มันกระจัดกระจายไปรายละนิดละหน่อย

แต่ระหว่างนี้ที่แท็บเล็ตครองโลก เราใช้มันทำอะไรได้บ้าง

คำตอบคือ เยอะแยะตาแป๊ะไก่ครับ

ทำงานก็ได้ เล่นก็ได้ สรวลเสเฮฮากับเพื่อนทางไกลก็ได้ ค้นคว้าหาข้อมูลก็ได้ หาคำตอบของคำถามที่สงสัยก็ได้ แม้แต่ขึ้นห้องนอนไปนอนดูหนังที่เลือกเองแล้วให้มันออกจอทีวีก็ได้ หรือจะเรียนมหาวิทยาลัยทางไกลก็ได้อีก มีทั้งแบบฟรีๆ หรือแบบเสียเงินค่าเล่าเรียน

มันเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกไร้พรมแดนชนิดหนึ่ง แล้วแต่ว่าใครจะใช้มันทำอะไร วันหนึ่งที่มันหายไป ก็จะมีอย่างอื่นๆ มาแทนที่อยู่นั่นเอง

ที่มา: มติชนรายวัน (567)

Comments are closed.