เมื่อ Amazon.com ซื้อ Washington Post

ข่าวตระกูล Graham ขายหนังสือพิมพ์ Washington Post เก่าแก่ 80 ปีให้กับ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon.com ทำเอาวงการสื่อทั้งโลกตื่นตะลึงพอสมควร

ความคิดแรกสำหรับบางคน อาจจะตีความว่าสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ ถูกสื่อดิจิทัลอย่างเว็บไซต์ขายของ ยึดครองเสียแล้ว

ความ คิดต่อมา คือ หาก บีซอส ที่ประสบความสำเร็จด้านโลกออนไลน์อย่างเกรียวกราว กล้าควัก 250 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท) เพื่อเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านความกล้าหาญ และขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวระดับชาติอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมแปลว่า สื่อสิ่งพิมพ์ยังมีความหวังที่จะอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันหนัก หน่วงและรุนแรง

แปลว่า เจ้าของ อะเมซอน เชื่อว่าตัวเองจะรักษาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เอาไว้ได้ อย่างน้อยอีกสักระยะหนึ่งทีเดียว
คน ทำงานหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ที่ถือว่าเป็นสถาบันของวงการข่าวมายาวนาน ยอมรับว่า เมื่อได้รับทราบข่าวเรื่องนี้เช้าวันจันทร์ ปฏิกิริยาแรกคืออาการช็อก เพราะว่าการเจรจาซื้อขายครั้งนี้เงียบกริบ ไม่มีข่าวแพร่งพรายออกมาก่อนแม้แต่น้อย

ประธานบริษัท คือ โดนัลด์ แกรแฮม Donald Graham และ กรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นหลานสาวชื่อ Katharine Weymouth เรียกประชุมพนักงานทั้งหมด เพื่อประกาศข่าวนี้ หลายคนที่ทำงานมานานร้องไห้ อีกหลายคนตะลึงงัน

โดนัลด์ แกรแฮม ยอมรับว่า เมื่อเริ่มเจรจาพูดคุยเรื่องขายหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ตัวเองก็ช็อกเหมือนกัน แต่เมื่อคุยกับเจ้าของอะเมซอนคนที่คุ้นเคยและเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป

“หากยังอยู่เหมือนเดิม เราก็ยังเชื่อว่า วอชิงตันโพสต์ จะอยู่รอดและทำกำไรได้ แต่เราต้องการทำอะไรมากกว่าเพียงแค่อยู่รอด ผมไม่ได้รับรองว่านี่จะประกันความสำเร็จได้ แต่มันทำให้เรามีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากกว่าเดิม…” เขาบอก

นายบีซอส เอง เขียนจดหมายถึงพนักงานวอชิงตันโพสต์ เพื่อยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่ายการบริหารวันต่อวัน

“ไม่ ว่าจะเปลี่ยนเจ้าของหรือไม่ ก็หนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี แต่ วอชิงตันโพสต์ เป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมอเมริกัน ผมไม่ได้ยืนยันว่าผมมีแผนสำหรับอนาคตที่เบ็ดเสร็จแล้ว เราคงต้องทดลองหลายๆ สูตร แต่สิ่งที่ผมรู้ว่าจะไม่ต้องเปลี่ยน คือ คุณค่าของความเป็นวอชิงตันโพสต์ หน้าที่ของหนังสือพิมพ์มีต่อคนอ่าน ไม่ใช่เจ้าของ…”

เขาบอกว่า เขาจะยังคงทำงานอยู่ที่ “วอชิงตันอีกแห่งหนึ่ง” (หมายถึงเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ไม่ใช่เมืองหลวงวอชิงตัน อันเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์วอชิงตันโพสต์) และจะให้ฝ่ายบริหารปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม

ความสำเร็จของ บีซอส ในการสร้าง Amazon.com เป็นเว็บไซต์ขายปลีกสินค้าสารพัด ชนิดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐี และพร้อมที่จะรองรับสภาวะเสี่ยงทางการเงินของวอชิงตันโพสต์ ที่รายได้ตก 44% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และยอดขายหนังสือพิมพ์ที่หดตัว 7% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้

ตัว Amazon.com เอง มีรายได้ก้าวกระโดดมาตลอด ปีที่แล้วรายงานรายได้กว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,800,000 ล้านบาท

หรือเท่ากับเกือบ 3 เท่าของรายได้รวมของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ทั้งประเทศสหรัฐ!

แต่ กระนั้นก็ตาม ตัวเลขการเงินของอะเมซอนตอนสิ้นปีที่แล้ว ก็ยังเป็นตัวแดง แม้ว่าราคาหุ้นของบริษัทจะสูงโด่ง เพราะว่านักลงทุนเชื่อมั่นว่าที่ บีซอส ทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจของเขา จะกลับกลายมาสร้างรายได้มหาศาลในอนาคต

Amazon.com กระตุ้นความมั่นใจให้กับวงการนักลงทุน เพราะว่าสร้างรายได้จากโฆษณาได้เกือบ 610 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18,300 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดกันว่าจะโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 33% ในปีนี้

และหากเจ้าของ อะเมซอน เชื่อว่า เขาสามารถจะปกปักรักษาสิ่งพิมพ์ที่มีประวัติศาสตร์อันโดดเด่น ในฐานะสื่ออาชีพมายาวนาน อย่าง Washington Post แล้วไซร้ ก็แปลว่าเขาพร้อมที่จะเล่นเกมยาวพอสมควรทีเดียว

ในฐานะที่ยัง เชื่อมั่นในสื่อสิ่งพิมพ์และมีความหวังในสื่อดิจิทัลเต็มที่ ผมเชื่อในความมุ่งมั่น ที่จะให้ Washington Post เสริมฐาน Amazon.com ของเขา

ที่มาของบทความ

(516)

Comments are closed.